CAR T-Cell มิติใหม่การรักษามะเร็ง

21-Jul-2023     อ่าน : 183 คน


 

CAR T-Cell มิติใหม่การรักษามะเร็ง

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด (B cell type Leukemia) ที่เกิดกับเด็กๆ เป็นเรื่องที่พ่อแม่กังวลอย่างมาก เพราะการรักษาต้องใช้ทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ เลือกโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการดูแลสูง รวมถึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานและมีค่าใช้จ่ายที่สูง เนื่องด้วยต้องผ่านกระบวนการรักษาที่ต้องพึ่งพาห้องปฏิบัติการณ์ในต่างประเทศ แต่ในปัจจุบันทีมแพทย์ไทยได้ร่วมกันทำการวิจัยและคิดค้นแนวทางการรักษาผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้ด้วย CAR T-Cell โดยใช้ห้องปฏิบัติการณ์ของประเทศไทย รวมถึงทีมแพทย์ไทยที่มีประสบการณ์สูงและเป็นที่ยอมรับจากวงการแพทย์ไทยและต่างประเทศ

CAR T-Cell คืออะไร

Chimeric antigen receptor (CAR) T-cell therapy ทางเลือกใหม่ของการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันโดยการใช้ T-Cell ซึ่งเป็นชนิดของเม็ดเลือดขาวแบบหนึ่ง วิธีนี้สามารถรักษาได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เป็นการรักษาด้วยแนวทางพันธุวิศวกรรม โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง กุมารแพทย์โรคมะเร็งในเด็ก รพ.เด็กสมิติเวช ได้ร่วมคิดค้นการรักษากับภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) นับเป็นผลงานของคนไทยที่ได้มาตรฐานสากลแห่งแรกในอาเซียน ไม่ต้องรอเวลาการส่งเลือดเพื่อไปทำการผลิต CAR T-cell ถึงต่างประเทศอีกต่อไป

ภาวะปกติร่างกายคนเราจะมีระบบภูมิคุ้มกันที่คอยจดจำสิ่งแปลกปลอมในร่างกายโดยการค้นหาโปรตีนที่เรียกว่าแอนติเจนบนผิวของเซลล์เหล่านั้น เซลล์มีโปรตีนของตัวเองที่เรียกว่ารีเซพเตอร์ซึ่งจับกับแอนติเจนแปลกปลอมและช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำลายสารแปลกปลอมนั้น เช่นเดียวกับเซลล์มะเร็งที่ก็มีแอนติเจนเช่นกัน แต่ถ้าเซลล์ภูมิคุ้มกันของเราไม่มีตัวรับที่เหมาะสม ก็จะไม่สามารถจับกับแอนติเจนและไม่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้

Chimeric antigen receptor (CAR) T-cell เซลล์จะถูกนำมาจากเลือดและมีการเปลี่ยนแปลงในห้องทดลองโดยการเพิ่มยีนสำหรับตัวรับ (เรียกว่า chimeric antigen receptor หรือ CAR) ซึ่งช่วยให้ T-cell จับกับแอนติเจนของเซลล์มะเร็งที่เฉพาะเจาะจง มะเร็งก็จะถูกทำลายไป แต่เนื่องจากมะเร็งแต่ละชนิดมีแอนติเจนที่แตกต่างกัน CAR T Cell แต่ละชนิดจึงถูกสร้างขึ้นสำหรับแอนติเจนของมะเร็งที่เฉพาะเจาะจง ตัวอย่างเช่น ในมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด เซลล์มะเร็งมีแอนติเจนที่เรียกว่า CD19 การบำบัดด้วย CAR T-cell เพื่อรักษามะเร็งเหล่านี้ จึงทำขึ้นเพื่อจับกับแอนติเจน CD19

CAR T-Cell ใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดใดบ้าง

การบำบัดด้วยเซลล์ CAR T-cell ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ในการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) และมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด (B cell type Leukemia) ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด multiple myeloma ในผู้ใหญ่

โดยหลักการสำคัญของวิธี CAR T-cell คือ เราดัดแปลง T-cell โดย T-cell ที่นำมาใช้ในการผลิต CAR T-cell ได้จากการนำเม็ดเลือดขาวของพ่อ แม่ พี่น้อง หรือของตัวผู้ป่วย มาผ่านกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม ดัดแปลง T-cell ซึ่ง T-cell ที่ถูกแยกออกจะส่งไปยังห้องปฏิบัติการ และแก้ไขโดยการเพิ่มยีนสำหรับตัวรับไคเมอริกแอนติเจน (CAR) ที่จำเพาะให้สร้างซึ่งคล้ายกับเครื่องตรวจจับติดอาวุธ เมื่อ CAR T-cell เจอกับเซลล์มะเร็ง จึงจดจำและกำจัดเซลล์มะเร็งที่จำเพาะเหล่านั้นได้ ซึ่งเป็นแนวทางเช่นเดียวกับการรักษาของบริษัทยาข้ามชาติ แต่เป็นฝีมือของทีมแพทย์ไทย ที่มีประสบการณ์ยาวนาน ผ่านการรับรองในวงการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ

กระบวนการรักษาด้วย CAR T-Cellสำหรับการรักษาด้วยกระบวนการพันธุวิศวกรรม CAR T-cell มีดังนี้

  • เตรียมตัวผู้ป่วยประมาณ 3 - 4 สัปดาห์
  • นำเม็ดเลือดขาวของพ่อแม่พี่น้องสายตรง ที่ได้จากการเก็บด้วยวิธี leukapheresis โดยใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 3 ชั่วโมง จากนั้นนำ T-cell  ที่ได้มาทำกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม
  • ผู้ป่วยจะมีการให้เคมีบำบัดแบบเบาก่อนให้ CAR T-cell เพื่อช่วยลดจำนวนเซลล์ภูมิคุ้มกันอื่นๆ โดยขั้นตอนนี้จะทำให้ CAR T-cell ทำงานเพื่อต่อสู้กับมะเร็งได้ดีขึ้น
  • นำ CAR T-cell ที่ผลิตได้ให้กับผู้ป่วย
  • ผู้ป่วยพักฟื้นอยู่ในศูนย์ปลูกถ่ายไขกระดูก ประมาณ 3 – 4 สัปดาห์

ข้อดีของการบำบัดด้วย CAR T-Cell

การรักษาด้วย CAR T-cell ในประเทศไทย นอกจากมีประสิทธิภาพในการรักษาสูงแล้ว ยังเป็นการรักษาที่สามารถช่วยลดเรื่องค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยได้อย่างมาก เนื่องด้วยเป็นการรักษาด้วยฝีมือของวงการแพทย์ไทย ทุกกระบวนการรักษารวมถึงห้องปฏิบัติการณ์ที่ได้มาตรฐานในประเทศไทย สามารถช่วยลดค่ารักษาให้กับครอบครัวผู้ป่วยจากเดิมลงได้ถึงกว่า 5 เท่าตัว และเป็นการรักษาในครั้งเดียว เพราะก่อนหน้านี้การรักษาที่ต้องใช้ห้องปฏิบัติการณ์ในต่างประเทศจึงทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการให้ CAR T-cell

การรักษาด้วย CAR T-cell สามารถได้ผลดีมากกับมะเร็งที่รักษายากบางชนิด แต่บางครั้งก็สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรง ด้วยเหตุนี้ จำเป็นต้องให้ในศูนย์การแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นพิเศษในการให้การรักษา และผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดหลังจากได้รับเซลล์ CAR T-cell โดยผลข้างเคียงที่พบได้ เช่น

  • มีไข้สูง หนาวสั่น
  • หายใจลำบาก หายใจเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว
  • คลื่นไส้ อาเจียน และ/หรือ ท้องเสียอย่างรุนแรง
  • รู้สึกวิงเวียนหรือหน้ามืด
  • ปวดหัว สับสน มีอาการชัก
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือข้อ
  • อาการแพ้ระหว่างการให้เซลล์
  • ระดับเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ
  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จำนวนเม็ดเลือดต่ำ

ซึ่งแพทย์และทีมผู้ดูแลที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ และมีประสบการณ์ในการรักษาด้วย CAR T-cell จะสามารถทราบอาการดังกล่าวได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และสามารถรักษาได้ทันท่วงที

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศ.นพ. สุรเดช หงส์อิง สาขากุมารเวชศาสตร์ สาขาโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก รพ.สมิติเวช

 

 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook Tianxian herb
ปรึกษาผลิตภัณฑ์

กรุณากรอกแบบฟอร์ม เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับภายใน 24 ชั่วโมง


มะเร็งกับการรักษา

มะเร็งกับการดูแล

มะเร็งกับอาหาร

โดยตั้งแต่ปี 1998 บริษัท เฟยดา จำกัด สาขาประจำประเทศไทย เริ่มดำเนินงานนำเข้า และเป็นตัวแทนจำหน่ายสมุนไพรเทียนเซียนแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

อ่านต่อ >>

ผลิตภัณฑ์ของเรา

ยาน้ำเทียนเซียน

เอ็กซ์แทร็คท์ พลัส

นิทรา เฮอร์เบิล ฟุทโซค

ติดต่อเรา

02-264-2217,02-264-2218,
02-264-2219
เวลาทำการ 08.30 น.-17.00 น.
[email protected]
213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 สุขุมวิท 21 คลองเตยเหนือ วัฒนา กรุงเทพ 10110

Copyright © 2020 บริษัท เฟยดา จำกัด. All rights reserved.