อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังจากการรักษามะเร็งและวิธีการแก้ไข

27-Mar-2013     อ่าน : 5234 คน


 

อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังจากการรักษามะเร็งและวิธีการแก้ไข

1. กลืนลำบาก

อาการกลืนลำบากมักเกิดจากมะเร็งของอวัยวะภายในลำคอ  หรือหลอดอาหารถึงแม้ได้รับการักษาแล้ว  ผู้ป่วยอาจจะยังมีอาการนี้อยู่บางรายก้อนมะเร็งอาจยุบไม่หมดเนื่องจากเป็นเนื้อทูมชนิดที่ดื้อต่อการรักษา ปัญหาสำคัญที่ตามมาหลังการกลืนลำบากคือ  น้ำหนักลด  ดังนั้นญาติควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยได้รับประทานอาหารบ่อยๆ โดยอาหารควรมีคุณค่าและให้พลังงานสูง  เช่น  ไข่  นมและเนื้อสัตว์  แต่ลักษณะของอาหารควรได้รับการปรุงแต่งให้อ่อนนุ่มและกลืนได้ง่าย ในระหว่างให้อาหารควรระวังเรื่องการลำลักเข้าปอด  เพราะอาหารจะเคลื่อนผ่านหลอดอาหารได้ช้า  การกลืนเร็วหรือรับประทานคำโตเกินไปจะทำให้สำลักลงปอดได้และเกิดอาการอักเสบของปอดตามมา ถ้าอาการกลืนลำบากเป็นมากขึ้น  ต้องแจ้งแพทย์ผู้รักษาทราบเพื่อได้พิจารณาหาทางแก้ไข  เช่น  ผ่าตัดใส่ท่อเพื่อให้อาหารเข้าทางกระเพาะหรือให้อาหารทางเส้นเลือดดำ  เป็นต้น

2. เบื่ออาหาร

โดยปกติผู้ป่วยโรคมะเร็งจะมีอาการเบื่ออาหารเกิดขึ้น  สาเหตุหลักมาจากขบวนการของโรคมะเร็งที่เป็นอยู่แต่อาการเบื่ออาหารยังสาเหตุหลักมาจากขบวนการของโรคมะเร็งที่เป็นอยู่แต่อาการเบื่ออาหารยังมีสาเหตุมาจากทางด้านจิตใจ  เช่น  อาการซึมเศร้า  หมดหวังในชีวิต  หรือกลัว  และอาจเกิดจากสาเหตุทางกาย  เช่น  อาการปวดที่ก้อนมะเร็ง  ปวดจากเยื่อบุช่องปากและทางเดินอาหารอักเสบกลืนลำบาก  คลื่นไส้  อาเจียนหรือท้องผูก  ซึ่งเกิดจากก้อนเนื้อทูมของมะเร็งหรือผลแทรกซ้อนจากการรักษามะเร็ง

ญาติหรือผู้ใกล้ชิดมีส่วนสำคัญมากโดยทำอาหารที่ผู้ป่วยชอบให้รับประทานให้อาหารคราวละไม่มาก  จัดให้รับประทานได้บ่อยตามต้องการจัดอาหารที่ย่อยง่ายไม่มีกลิ่นรุนแรงรสไม่จืดและไม่มัน  เป็นเพื่อนคุยหรือรับประทานอาหารร่วมด้วยคอยให้กำลังใจและคอยกระตุ้นให้ทานอาหาร  ถ้าผู้ป่วยเคยชินต่อการดื่มเครื่องดื่มก่อนอาหาร  เช่น  สุรา  และไม่มีข้อห้ามก็สามารถให้ผู้ป่วยดื่มได้ในกรณีที่อาการปวดยังคุมไม่ได้  เจ็บปาก  หรือท้องผูก  ให้รีบแจ้งแพทย์ทราบ  เพื่อจะได้รักษาอาการเหล่านั้น  บางครั้งแพทย์อาจพิจารณาให้ยากระตุ้นความอยากอาหารถ้าจำเป็น

3. คลื่นไส้อาเจียน

อาการคลื่นไส้อาเจียน  เป็นกลไกการป้องกันอันตรายของร่างกาย  เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ  เช่น  อาจเกิดจากผลข้างเคียงของยาเคมี  หรือยาแก้ปวดชนิดอาหาร  หรือจากภาวะผิดปกติทางจิตใจ ในกรณีที่เกิดจากผลข้างเคียงของยาเคมี  หรือยาแก้ปวด  สามารถใช้ยาแก้อาเจียนที่แพทย์ให้ใช้เมื่อมีอาการได้ทันทีโดยใช้ตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด  การรับประทานยาที่สั่งเกินขนาด  หรือบ่อยครั้งเกินกว่าที่แนะนำไว้อาจก่อให้เกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้ ถ้าอาการคลื่นไส้เกิดจากภาวะทางจิตใจ  เช่น  ปวด  กลัว  หรือวิตกกังวลการใช้ยาระงับปวด  หรือการดูแลทางจิตใจอย่างเพียงพอก็อาจทำให้อาการคลื่นไส้หายไปได้

4. ซีด

อาการซีดเกิดจากการเสียเลือดเร็วกว่าอัตราการสร้างเลือด  ผู้ป่วยมะเร็งมีโอกาสเสียเลือดได้จากแผลมะเร็งภายนอกและภายในก้อนมะเร็งบางครั้งสามารถสังเกตสาเหตุได้  เช่น  ไอเป็นเลือดจากมะเร็งปอด  อาเจียนเป็นเลือดจากมะเร็งกระเพาะอาหาร  ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดจากมะเร็งลำไส้ใหญ่  หรือเลือดออกจากจมูกหรือปากจากมะเร็งในบริเวณช่องปากหรือหลังโพรงจมูก  เป็นต้น

ขณะอยู่บ้านถ้าเสียเลือดมากในเวลาอันรวดเร็วอย่างเห็นได้ชัด  ต้องนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านที่สุดทันที  เพื่อพิจารณาการห้ามเลือดหรือให้เลือดต่อไป  แต่ถ้าเป็นการเสียเลือดชนิดเรื้อรัง  เช่น  เลือดออกจากแผลมะเร็ง  อุจจาระปนเลือดเป็นครั้งคราว  หรือปัสสาวะมีปนเลือดเป็นครั้งคราว  โดยไม่มีอาการของการขาดเลือดอย่างรุนแรง  การให้ผู้ป่วยรับประทานผักสีเขียวให้มาก, อาหารจำพวกตับ  และรับประทานยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็ก  ทำแผลให้ถูกวิธีจะช่วยลดภาวะซีดได้อย่างมาก  และต้องไปพบแพทย์ตามกำหนดนัดอย่างสม่ำเสมอ

5. ซึมเศร้า

อาการซึมเศร้าจะเป็นอาการตอบสนองที่เกิดขึ้นตามปกติของโรคมะเร็งที่เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยทราบว่าระยะสุดท้ายใกล้มาถึง  อาการนี้อาจเป็นสาเหตุนำไปสู่อาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ  เช่น  นอนไม่หลับ  เบื่ออาหาร  และอารมณ์แปรปรวน ญาติและเพื่อนสนิทจะสามารถช่วยผู้ป่วยในการเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่เลวร้ายได้อย่างเข้มแข็ง  กล้าหาญและยอมรับสภาพโดยการให้กำลังใจและการช่วยแก้ปัญหาแก่ผู้ป่วย  ทั้งทางสังคมและจิตใจจะช่วยให้พ้นภาวะนี้ได้อย่างมาก เวลาที่ผ่านไปจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้าลดน้อยลงเรื่อยๆ ในรายที่มีอาการซึมเศร้ามาก  หรือเป็นอยู่นานจำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบเพื่อพิจารณาให้การรักษาเป็นการเฉพาะ  เช่น  โดยการใช้ยาแก้อาการซึมเศร้าหรือจิตบำบัด

6. นอนไม่หลับ

ผู้ป่วยที่ใช้ชีวิตพักผ่อนอยู่ในบ้าน หรือบนเตียงเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้สูงอายุ โดยปกติต้องการเวลาในการนอนหลับไม่มากนักอาจเพียง 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น ถ้านอนไม่หลับจากการที่ได้นอนตอนกลางวันหรือนอนน้อยเป็นปกติวิสัยก็ไม่ต้องกังวลกับอาการ แต่ถ้าเป็นผลจากอาการปวด วิตกกังวล หอบเหนื่อย หรือไอมากควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที การออกกำลังกายเล็กน้อย ไม่ดูภาพยนตร์หรืออ่านหนังสือที่ตื่นเต้นก่อนนอนอาจช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น  การดื่มเครื่องดื่ม เช่น นมอุ่นก่อนนอนและการจัดบรรยากาศในห้องนอนให้โปร่งสบาย ไม่มีเสียงรบกวนก็จะทำให้นอนหลับได้สบายขึ้น กรณีที่นอนไม่หลับทำให้รบกวนต่อสุขภาพและจิตใจมากควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาให้ยาหรือหาวิธีที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป

7. ท้องผูก

ผู้ป่วยโรคมะเร็งส่วนใหญ่จะท้องผูก สาเหตุอาจเกิดจากการเคลื่อนไหวน้อยรับประทานอาหารที่มีกากน้อย ดื่มน้ำน้อย ผลข้างเคียงจากยาระงับประสาทหรือยาระงับปวดบางชนิดผลที่ตามมาของท้องผูก คือ ปวดทวารหนัก บางรายอาจมีเลือดออกบริเวณทวารหนักระหว่างหรือหลังถ่ายอุจจาระ ปวดท้องจากการอุดกลั้นในลำไส้ เบื่ออาหาร บางรายอาจมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

การป้องกันเป็นวีที่ดีที่สุด ญาติอาจช่วยได้โดยการกระตุ้นให้รับประทานอาหารตามเวลาโดยเฉพาะอาหารที่มีกากและดื่มน้ำมากขึ้นโดยเฉพาะน้ำผลไม้ เพิ่มการเคลื่อนไหว เช่น การเดินถ้ากระทำได้ แต่บางรายก็อาจจำเป็นต้องใช้ยาระบายอ่อนๆ ซึ่งอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ บางครั้งการสวนอุจจาระ  หรือการช่วยล้วงอุจจาระเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ให้การดูแลอาจช่วยทำให้ผู้ป่วย  วิธีการทำควรได้รับการฝึกสอนจากพยาบาลที่ดูแลในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาท้องผูกเป็นประจำควรปรึกษาแพทย์พยาบาล

8. ท้องเสีย

ท้องเสียเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ  เช่น  ติดเชื้อแบคทีเรีย  ไวรัส  ลำไส้อักเสบจากการฉายรังสี  การดูดซึมอาหารผิดปกติ  ผลข้างเคียงของยาปฏิชีวนะเนื้องอกที่ลำไส้ใหญ่หรือวิตกกังวล ในกรณีที่ทราบสาเหตุก็ให้การรักษาเป็นการเฉพาะในแต่ละราย  เช่นต้องรับประทานยา  และปฏิบัติตามที่แพทย์สั่งโดยเคร่งครัด  ญาติอาจช่วยได้โดยให้อาหารอ่อนที่มีกากน้อยและดูแลบริเวณรอบๆ ทวารหนักไม่ให้เป็นแผลอาจทำได้โดยการทำความสะอาดบ่อยๆ หรือการใช้ครีมทา  ถ้าถ่ายบ่อยมากๆ และมีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วยควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือแร่  เพื่อทดแทนสารน้ำและอิเลกโทรไลท์ที่สูญเสียไปกับอุจจาระหรืออาจจะผสมน้ำเกลือแร่เพื่อใช้เองที่บ้าน  โดยใช้น้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 ขวดแม่โขง (750 ซีซี) ในเกลือแกง ½ ช้อนชาและน้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ  ผสมไว้ดื่มภายใน 24 ชั่วโมง  ถ้าท้องเสียมากโดยไม่เคยเป็นมาก่อนมีไข้ร่วมด้วยเพ้อ  พูดไม่รู้เรื่อง  ซึม  ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล

9. ไอ

ผู้ป่วยโรคมะเร็งของระบบทางเดินหายใจ  อาจมีอาการไออย่างต่อเนื่องซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ  เช่น  นอนไม่หลับ  เบื่ออาหาร  คลื่นไส้  อาเจียน  หรือเจ็บหน้าอกได้ การดูแลตนเองอย่างถูกวิธีอาจช่วยลดอาการไอได้อย่างมาก  เช่น  การลดสาเหตุที่ก่อให้เกิดการระคายในระบบทางเดินหายใจ  โดยงดสูบบุหรี่  หรือห่างไกลจากควันทุกชนิด  การดื่มน้ำอุ่นให้มากๆ หรือการอยู่ในบรรยากาศที่มีความชื้นสูงจะช่วยทำให้เสมหะไม่เหนียวและหลุดออกมาได้ง่าย  การใช้ยาขับหรือละลายเสมหะอาจไม่ได้ผลในผู้ป่วยบางราย  ดังนั้นควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น  การใช้ยาลดอาการไอควรอยู่ในการดูแลของแพทย์

10. ปวด

อาการปวดในผู้ป่วยโรคมะเร็งพบได้เป็นประจำ  โดยเฉพาะผู้ป่วยที่โรคมะเร็งอยู่ในระยะลุกลามพบว่ามีมากถึง 65-85% สาเหตุอาจเกิดจากก้อนมะเร็งกดทับเนื้อเยื่อใกล้เคียง  มะเร็งกระจายไปกระดูก  มะเร็งลุกลามเข้าเส้นประสาทเกิดการอุดตันท่อน้ำเหลืองจากก้อนมะเร็งหรืออื่นๆ อย่างไรก็ตาม  อาการปวดอาจเกิดจากสาเหตุอื่นด้วยก็ได้  เช่น  ผลแทรกซ้อนจากการได้รับยาเคมี  รังสีรักษา  หรือปวดจากแผลผ่าตัด

ส่วนใหญ่อาการปวดสามารถควบคุมได้ด้วยยาแก้ปวด  ได้แก่  ยาแก้ปวดธรรมดา  หรือยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เสพติด  และกลุ่มยาเสริม  หลักสำคัญของการให้ยาระงับอาการปวดที่เกิดจากมะเร็ง  คือ  ให้รับประทานยาตามเวลา  ตามอาการออกฤทธิ์ของยาตามที่ใช้ก่อนอาการปวดครั้งต่อไปจะเกิดขึ้น  ยาชนิดอื่นที่แพทย์ให้ใช้ร่วมกับยาแก้ปวดก็มีความสำคัญ  เพราะอาจทำให้อาการปวดลดลงได้ดีขึ้น  ขนาดของยาแก้ปวดที่รับประทานก่อนนอนมากจะมีขนาดมากกว่าปกติ  เพื่อให้คุมอาการปวดได้นานถึงเช้า  ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด

อาการอ่อนเพลีย  ตกใจ  กลัว  โกรธ  ซึมเศร้า  อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดได้มากขึ้น  ญาติที่ช่วยในการดูแลควรให้ความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด  ในกรณีที่ให้ยาตามที่แพทย์แนะนำให้ใช้แล้วคุมอาการปวดได้น้อยลง  หรือมีอาการปวดบริเวณใหม่ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที

 

 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook Tianxian herb
ปรึกษาผลิตภัณฑ์

กรุณากรอกแบบฟอร์ม เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับภายใน 24 ชั่วโมง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Tag ที่เกี่ยวข้อง

ความรู้มะเร็ง อาการมะเร็ง การดูแลผู้เป็นมะเร็ง

มะเร็งกับการดูแล

มะเร็งกับการรักษา

มะเร็งกับอาหาร

โดยตั้งแต่ปี 1998 บริษัท เฟยดา จำกัด สาขาประจำประเทศไทย เริ่มดำเนินงานนำเข้า และเป็นตัวแทนจำหน่ายสมุนไพรเทียนเซียนแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

อ่านต่อ >>

ผลิตภัณฑ์ของเรา

ยาน้ำเทียนเซียน

เอ็กซ์แทร็คท์ พลัส

นิทรา เฮอร์เบิล ฟุทโซค

ติดต่อเรา

02-264-2217,02-264-2218,
02-264-2219
เวลาทำการ 08.30 น.-17.00 น.
[email protected]
213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 สุขุมวิท 21 คลองเตยเหนือ วัฒนา กรุงเทพ 10110

Copyright © 2020 บริษัท เฟยดา จำกัด. All rights reserved.