แค่ตับอักเสบจากไวรัส ก็เสี่ยง มะเร็งตับ ได้

18-Mar-2020     อ่าน : 945 คน


  

แค่ตับอักเสบจากไวรัส ก็เสี่ยง มะเร็งตับ ได้  

หากใครกำลังจะถามว่าทำไมเราต้องใส่ใจกับปัญหาตับอักเสบจากไวรัสคงต้องหยุดความคิดนั้น เพราะหัวข้อบทความอย่างแน่นอน ใช่แล้วล่ะ! ตับอักเสบจากไวรัส คือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดตับแข็งและมะเร็งตับได้ เมื่อทราบเช่นนี้ คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราทุกคนควรเริ่มต้นใส่ใจกับไวรัสที่ทำให้ตับเกิดการอักเสบ

ตับสำคัญแค่ไหน

ตับ เป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย มีหน้าที่ช่วยกำจัดของเสีย และสารพิษจากกระแสเลือด ทั้งที่เป็นสารพิษจากภายนอก เช่น ยา แอลกอฮอล์ หรือสารพิษจากภายใน เช่น แอมโมเนีย บิลิรูบิน โดยจะกำจัดออกมาในรูปแบบปัสสาวะและอุจจาระ นอกจากนี้ตับยังมีหน้าที่เป็นแหล่งสะสมพลังงาน ผลิตสารสร้างการแข็งตัวของเลือด ทำหน้าที่ทำลายเม็ดเลือดที่หมดอายุ และอื่นๆ อีกหลายประการ  

ตับอักเสบ ทำไมมันถึงอักเสบ

ตับอักเสบ คือ ภาวะที่ตับมีการอักเสบจนส่งผลให้การทำงานต่างๆ ของตับผิดปกติ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ยา แอลกอฮอล์ สารเคมี การติดเชื้อไวรัส ฯลฯ โดยในเรื่องนี้เราจะมาลงลึกคุยกันเฉพาะปัญหาภาวะตับอักเสบจากไวรัส (Viral hepatitis) ซึ่งหมายถึงตับอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส

เชื้อไวรัสตับอักเสบมีหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ A ไวรัสตับอักเสบ B ไวรัสตับอักเสบ C ไวรัสตับอักเสบ D ไวรัสตับอักเสบ E ไวรัสตับอักเสบ G และไวรัสชนิดอื่นๆ เช่น ไวรัสไข้เลือดออก เป็นต้น ในทางการแพทย์ เมื่อกล่าวถึงภาวะตับอักเสบจากไวรัส มักหมายถึง การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด A B หรือชนิด C นั่นเอง

ไวรัสตับอักเสบชนิด A B หรือ C ไม่ได้ต่างแค่ชื่อ

  • ไวรัสตับอักเสบชนิด A สามารถแพร่กระจายในอาหาร น้ำ และอุจจาระ เช่น การเข้าห้องน้ำแล้วไม่ล้างมือ แล้วไปจับอาหารและน้ำ เชื้อจะแพร่กระจายเข้าไปสู่สมาชิกในครอบครัวและเพื่อน โดยมากจะพบในร้านอาหาร ภัตตาคาร สถานที่รับเลี้ยงเด็กที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ไวรัสนี้ทำให้มีอาการเกิดขึ้นเฉียบพลัน แล้วจะหายไปเองโดยไม่เกิดตับอักเสบเรื้อรัง
  • ไวรัสตับอักเสบชนิด B เกิดจากการที่ได้รับเลือดหรือสารที่ปนเปื้อนเลือด การมีเพศสัมพันธ์การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การล้างไต การเจาะหู การสักตัวหรือคิ้ว การใช้ใบมีดโกนและแปรงสีฟันที่มีเชื้ออยู่ รวมทั้งการได้รับเชื้อจากมารดาในขณะที่คลอดทำให้เกิดการติดเชื้อตับอักเสบ
  • ไวรัสตับอักเสบชนิด C เกิดจากการได้รับเลือด การล้างไต การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การสักคิ้วหรือตัว โดยพบว่ามากกว่า 90% ของผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อนี้ มาจากการรับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือด ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อไวรัสตับอักเสบชนิด B หรือ C

  • ผู้ที่ทำงานในด้านการแพทย์ สาธารณสุข
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นพาหะของโรค
  • ผู้ที่ได้รับเลือด หรือสารประกอบของเลือด (ก่อนปี พ.ศ.2535)
  • ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ผู้ที่ใช้ของร่วมกันโดยเฉพาะใบมีดโกนหนวดหรือแปรงสีฟัน

อาการของตับอักเสบจากไวรัสเป็นเช่นไร? แต่ละชนิดมีอาการเหมือนกันหรือไม่?
อันดับแรก เราไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ระยะฟักตัวของโรค (ระยะได้รับเชื้อจนถึงแสดงอาการ) กันก่อนดีกว่า

  • ไวรัสตับอักเสบชนิด A จะมีระยะฟักตัว 2 ถึง 6 สัปดาห์ ทำให้เกิดตับอักเสบแบบเฉียบพลัน
  • ไวรัสตับอักเสบชนิด B จะมีระยะฟักตัว 2 ถึง 6 สัปดาห์ ทำให้เกิดตับอักเสบแบบเฉียบพลัน
  • ไวรัสตับอักเสบ ชนิด C จะมีระยะฟักตัว 2 ถึง 6 สัปดาห์ ทำให้เกิดตับอักเสบแบบเรื้อรัง

1. อาการของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด A จะมีอาการแบบเฉียบพลัน คือ มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อ่อนเพลียในระยะก่อนเหลือง ตามมาด้วยอาการเหลือง และมักมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อาจมีปวดเสียด หรือจุกแน่นแถวลิ้นปี่หรือชายโครงขวา ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม อาจมีอุจจาระสีซีด ร่วมด้วย โดยอาการเหล่านี้จะมีอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ จนถึง 3 เดือน แล้วมักจะหายได้เองโดยไม่มีโรคแทรกซ้อน

2. อาการผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด B ส่วนใหญ่จะมีอาการเฉียบพลันโดยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ตาเหลือง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเองและมีภูมิคุ้มกัน มีเพียงส่วนน้อยที่กลายเป็นพาหะ ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อตั้งแต่วัยเด็กอาจไม่มีอาการใดๆ แต่จะกลายเป็นพาหะ ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับได้ในอนาคต

3. อาการผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด C โดยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ มักพบจากการตรวจการทำงานของตับที่ผิดปกติ หรือเมื่อมีอาการตับแข็งหรือมะเร็งตับแล้ว

ตับอักเสบจากไวรัส ยิ่งรีบรักษา ยิ่งลดความเสี่ยง

เมื่อผู้ป่วยมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาที่ถูกต้อง โดยแพทย์จะทำการตรวจเลือด ดูการทำงานของตับ ซึ่งจะเป็นตัวชี้บ่งชี้ว่ามีการอักเสบของตับหรือไม่ ในผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันจะไม่มีการรักษาเฉพาะ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยจะค่อยๆดีขึ้นเอง และในระหว่างการรักษาควรพยายามรับประทานอาหารให้เพียงพอ

ในผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังในปัจจุบันพบว่าการใช้ยาฉีดอินเตอร์เฟียรอน (Interferon) ฉีดติดต่อกันอย่างน้อย 4-6 เดือนจะทำให้การอักเสบของตับลดลง หรือทำให้การอักเสบของตับอักเสบชนิด B หายไป (ได้ผลประมาณร้อยละ 30-40) นอกจากยาฉีดแล้วยังมียารับประทาน โดยแพทย์จะพิจารณาใช้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถทนยาอินเตอร์เฟียรอนได้ หรือมีข้อห้ามในการใช้ยาอินเตอร์เฟียรอน ซึ่งยารับประทานจะสามารถลดการอักเสบของตับได้เช่นเดียวกัน แต่มีข้อเสีย คือ ต้องรับประทานต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันก็มีการพัฒนายาที่รับประทานเพียง 3-6 เดือน ก็สามารถหายขาดได้มากกว่า 90% ส่วนไวรัสตับอักเสบชนิด C สามารถรักษาได้โดยการใช้ยาอินเตอร์เฟียรอนร่วมกับยากิน

ถ้าป่วยแล้ว ต้องดูแลตัวเองอย่างไร

อันดับแรกที่สำคัญที่สุดคือ ห้ามดื่มสุรา ไม่ควรทานยาใดๆที่นอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง พักผ่อนอย่างเต็มที่ ผู้ป่วยสามารถทำงานได้ตามปกติ แต่ควรดื่มน้ำมาก ๆ และควรล้างมือให้สะอาดหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง รวมทั้งควรแยกอาหารและของใช้ส่วนตัวจากคนอื่น

ป้องกันแบบนี้ซิดี หนีความเสี่ยง

  • หลีกเลี่ยงการได้รับเลือด หรือส่วนประกอบของเลือดโดยไม่จำเป็น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้อื่น การสักตัว สักคิ้ว โดยไม่จำเป็น
  • ป้องกันให้ดี เมื่อคิดมีเพศสัมพันธ์
  • ตรวจเช็คเลือดว่ามีภูมิคุ้มกันแล้วหรือไม่ ถ้ามีภูมิคุ้มกันแล้วไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซัน ถ้าไม่มีภูมิก็ควรเข้ารับการฉีดวัคซีน ยกเว้นผู้ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ การฉีดวัคซีนจะไม่ได้ประโยชน์และไม่ทำให้หายจากโรค
  • ไวรัสตับอักเสบ A ส่วนใหญ่จะได้รับเชื้อในวัยเด็กและมีภูมิคุ้มกันแล้ว แต่อย่างไรก็ตามมีวัคซีนสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยมีภูมิคุ้มกัน หรือไม่เคยได้รับเชื้อ โดยฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน
  • ไวรัสตับอักเสบ B ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโดยฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ที่ระยะเวลา 0 1 และ 6 เดือน ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติจะก่อให้เกิดภูมิต้านทานได้ร้อยละ 90-95 ซึ่งการฉีดวัคซีนจะเป็นการป้องกันมะเร็งตับจากไวรัสตับอักเสบ B ได้
  • ส่วนไวรัสตับอักเสบ C ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

ตับอักเสบจากไวรัส สร้างปัญหาในหลายด้านให้กับผู้ป่วย และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคที่ร้ายแรงอย่างมะเร็งตับ ฉะนั้น สิ่งที่ดีที่สุดเพื่อห่างไกลจากโรคนี้และในอีกหลาย ๆ โรค ทุกคนควรให้ความสำคัญกับการป้องกัน โดยเริ่มต้นดูแลสุขภาพตั้งแต่วันนี้

ศูนย์ทางเดินอาหารและโรคตับ โรงพยาบาลพญาไท 3

 

 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook Tianxian herb
ปรึกษาผลิตภัณฑ์

กรุณากรอกแบบฟอร์ม เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับภายใน 24 ชั่วโมง


รู้จักโรคมะเร็ง

มะเร็งกับการรักษา

มะเร็งกับการดูแล

โดยตั้งแต่ปี 1998 บริษัท เฟยดา จำกัด สาขาประจำประเทศไทย เริ่มดำเนินงานนำเข้า และเป็นตัวแทนจำหน่ายสมุนไพรเทียนเซียนแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

อ่านต่อ >>

ผลิตภัณฑ์ของเรา

ยาน้ำเทียนเซียน

เอ็กซ์แทร็คท์ พลัส

นิทรา เฮอร์เบิล ฟุทโซค

ติดต่อเรา

02-264-2217,02-264-2218,
02-264-2219
เวลาทำการ 08.30 น.-17.00 น.
[email protected]
213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 สุขุมวิท 21 คลองเตยเหนือ วัฒนา กรุงเทพ 10110

Copyright © 2020 บริษัท เฟยดา จำกัด. All rights reserved.