ช่วยตัวเอง ลดเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก จริงหรือ?

08-Dec-2022     อ่าน : 147 คน


    

ต่อมลูกหมากเป็นต่อมรูปวอลนัทขนาดเล็กในเพศชายที่ผลิตน้ำอสุจิและขนส่งตัวอสุจิ มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer) เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งในเพศชายที่พบได้บ่อยที่สุด และยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากมะเร็งในเพศชายมากเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งปอด อย่างไรก็ตามมะเร็งต่อมลูกหมากที่ตรวจพบได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เมื่อยังคงจำกัดอยู่ที่ต่อมลูกหมาก มีโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้   

อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก

มะเร็งต่อมลูกหมากอาจไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก แต่เมื่อลุกลามมากขึ้นอาจทำให้เกิดอาการแสดง เช่น

  • ปัสสาวะลำบาก
  • แรงในกระแสปัสสาวะลดลง
  • มีเลือดปนในปัสสาวะ
  • มีเลือดในน้ำอสุจิ
  • ปวดกระดูก
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • หย่อนสมรรถภาพทางเพศ

สาเหตุของมะเร็งต่อมลูกหมาก

แม้ยังไม่พบสาเหตุแน่ชัดของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่แพทย์ทราบดีว่ามะเร็งต่อมลูกหมากเริ่มต้นขึ้นเมื่อเซลล์ในต่อมลูกหมากมีการเปลี่ยนแปลงในดีเอ็นเอของเซลล์ ส่งผลให้เซลล์เติบโตและแบ่งตัวได้รวดเร็วกว่าเซลล์ปกติ เซลล์ที่ผิดปกติจะมีชีวิตอยู่ต่อไปเมื่อเซลล์อื่นตาย เซลล์ผิดปกติที่สะสมอยู่ก่อตัวเป็นเนื้องอกที่สามารถเติบโตเพื่อบุกรุกเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง เมื่อเวลาผ่านไป เซลล์ที่ผิดปกติสามารถแตกออกและแพร่กระจาย ไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้

ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก

ปัจจัยที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก ได้แก่  

  • อายุที่มากขึ้น ความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น  โดยเฉพาะหลังจากอายุ 50 ปี
  • คนผิวดำมีความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมากมากกว่าคนเชื้อชาติอื่น  รวมถึงมีแนวโน้มที่จะลุกลามมากขึ้นด้วย
  • ประวัติครอบครัวทางสายเลือด เช่น พ่อ พี่น้อง ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ความเสี่ยงอาจเพิ่มขึ้น
  • นอกจากนี้หากมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม หรือมียีนที่เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม (BRCA1 หรือ BRCA2)   ความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากอาจสูงขึ้นเช่นกัน
  • โรคอ้วน ผู้ที่เป็นโรคอ้วนอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เมื่อเทียบกับผู้มีน้ำหนักตัวปกติ ทั้งนี้การศึกษายังพบอีกว่า ในคนอ้วน มะเร็งมีแนวโน้มที่จะลุกลามมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะกลับมาเป็นอีกหลังการรักษาครั้งแรก

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งต่อมลูกหมาก

นอกจากการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังกระเพาะปัสสาวะ ยังสามารถเดินทางผ่านกระแสเลือดหรือระบบน้ำเหลืองไปยังกระดูกหรืออวัยวะอื่นๆ  ส่งผลกระทบต่างๆ ดังนี้

  • มะเร็งต่อมลูกหมากที่แพร่กระจายไปยังกระดูกอาจทำให้เกิดอาการปวดและกระดูกหักได้  
  • เมื่อมะเร็งต่อมลูกหมากได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย มะเร็งอาจยังตอบสนองต่อการรักษาและอาจควบคุมได้ แต่อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาด
  • ทั้งมะเร็งต่อมลูกหมากและการรักษาอาจส่งผลให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ การรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค และมีโอกาสดีขึ้นได้ โดยการรักษาด้วยยา การสวนและการผ่าตัด
  • การหย่อนสมรรถภาพทางเพศอาจเกิดจากมะเร็งต่อมลูกหมากหรือการรักษา เช่น การผ่าตัด การฉายรังสี หรือการรักษาด้วยฮอร์โมน หลังจากการรักษามะเร็งแล้ว แพทย์อาจพิจารณารักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศด้วยยา อุปกรณ์สูญญากาศ และการผ่าตัด

การป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก

สามารถลดความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากได้ เมื่อปฏิบัติ ดังนี้

  • เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสีและหลากหลาย   
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น ช่วยควบคุมน้ำหนักและทำให้อารมณ์ดีขึ้น หากเพิ่งเริ่มออกกำลังกาย ให้เริ่มช้าๆ และเพิ่มเวลาออกกำลังกายในแต่ละวัน
  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี   
  • กรณีพบว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ควรพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา โดยแพทย์อาจพิจารณาใช้ยาหรือใช้วิธีอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยง

เคล็ดลับการรักษาต่อมลูกหมากให้แข็งแรง ด้วย S-E-X

งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่าการหลั่งบ่อยขึ้น ไม่ว่าจะระหว่างการมีเพศสัมพันธ์หรือการช่วยตัวเอง อาจช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากได้  โดยการศึกษาในปี 2016 พบว่าผู้ชายที่หลั่งออกมาอย่างน้อย 21 ครั้งต่อเดือน ลดความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากได้ประมาณ 20% เมื่อเทียบกับผู้ชายที่หลั่งเพียง 4-7 ครั้งต่อเดือน

การมีเพศสัมพันธ์หรือการช่วยตัวเอง ส่งผลต่อต่อมลูกหมากอย่างไร

ต่อมลูกหมากเป็นส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์เพศชาย  อยู่ที่จุดเชื่อมต่อของระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ ซึ่งช่วยกำหนดเส้นทางของสเปิร์มในการหลั่งอสุจิ  โดยพุ่งออกมาในท่อปัสสาวะ

เมื่อสารก่อมะเร็งตามธรรมชาติถูกสร้างขึ้นในต่อมลูกหมาก สะสมเป็นความเสี่ยงการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้นการพุ่งออกมาของอสุจิ อาจช่วยกวาดล้างสารก่อมะเร็งที่อาจเป็นอันตรายเหล่านี้และลดความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมากได้ โดยมีการยืนยันจากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี 2018 ซึ่งพบความเชื่อมโยงทางชีววิทยาระหว่างการหลั่งบ่อยครั้งและการพัฒนาของเนื้องอกต่อมลูกหมาก

อย่างไรก็ตาม การหลั่งบ่อยๆ  ไม่สามารถช่วยชะลอการขยายตัวของต่อมลูกหมากหรือต่อมลูกหมากโต (BPH) ที่เกิดขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้นได้

นอกจากการมีเพศสัมพันธ์และการหลั่งจะช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากแล้ว การมีเพศสัมพันธ์ก็นับว่าเป็นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ  ช่วยเผาผลาญแคลอรีได้มากกว่า 100 แคลอรี  ส่งผลดีต่อร่างกายและลดความเสี่ยงโรคหัวใจ   ทั้งนี้ระหว่างการหลั่ง ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนโดปามีน (Dopamine)  ซึ่งช่วยเพิ่มความรู้สึกมีความสุขและผ่อนคลาย  

การวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีเพศสัมพันธ์สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง มีระดับแอนติบอดีที่ป้องกันการเจ็บป่วยสูงขึ้น  รวมถึงสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphins) ที่ปล่อยออกมาระหว่างมีเพศสัมพันธ์ทำหน้าที่เป็นยาแก้ปวดตามธรรมชาติ  อาจช่วยบรรเทาอาการปวดหัวและไมเกรนได้

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก

หากพบสัญญาณความผิดปกติ เช่น ปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะบ่อยช่วงกลางดึก ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัย โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ อาจจะมีการตรวจโดยคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนัก และการเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) หากพบค่าพื้นฐานมีความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก  อาจส่งตรวจด้วยการทำ MRI ต่อมลูกหมาก และตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากนั้นทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค รวมถึงความแข็งแรงของผู้ป่วยแต่ละราย ดังนี้

  • กรณีผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก อาจใช้วิธีติดตามโรค (Active surveillance)
  • ใช้คลื่นความถี่สูง (HIFU) เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งระยะแรกและไม่รุนแรงถึงขั้นต้องผ่าตัดหรือให้คีโม
  • การผ่าตัดแบบแผลเล็ก หรือ  Minimal Invasive Surgery (MIS) เพื่อเอาต่อมลูกหมากส่วนที่เป็นมะเร็งออก สามารถทำได้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก และร่างกายแข็งแรง  เป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง (laparoscopic radical prostatectomy)    เพียงเปิดปากแผลเล็กน้อย  ไม่รบกวนเนื้อเยื่อหรืออวัยวะรอบข้าง ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อย สามารถฟื้นฟูร่างกายได้รวดเร็ว   
  • ฉายรังสี (Whole beam radiation)   โดยใช้รังสีเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง กรณีผู้ป่วยไม่แข็งแรงพอที่จะทำการผ่าตัด
  • การฝังแร่ (Brachytherapy) ด้วยการสอดแท่งรังสีขนาดเล็กเข้าไปยังต่อมลูกหมากผ่านผิวหนังบริเวณฝีเย็บ  
  • การใช้ฮอร์โมน โดยใช้ยาเพื่อลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน สามารถใช้ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ไปจนถึงระยะอื่นๆ ของมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • เคมีบำบัด มักใช้วิธีนี้เมื่อการใช้ฮอร์โมนบำบัดไม่ได้ผลเท่าที่ควร

แม้ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการใดๆ ในระยะเริ่มต้น แต่หากใส่ใจหมั่นสังเกตร่างกาย เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีและคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในกรณีที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หากตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ นอกจากนี้การใส่ใจดูแลสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่ปล่อยให้น้ำหนักมากเกินไป รวมถึงมีกิจกรรมทางเพศหรือการช่วยตัวเอง อาจช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากได้  

ขอขอบคุณข้อมูล นพ. โชติรัตน์ บุณยเกียรติ สาขาศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา โรงพยาบาลสมิติเวช

 

    

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook Tianxian herb
ปรึกษาผลิตภัณฑ์

กรุณากรอกแบบฟอร์ม เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับภายใน 24 ชั่วโมง


รู้จักโรคมะเร็ง

มะเร็งกับการรักษา

มะเร็งกับการดูแล

โดยตั้งแต่ปี 1998 บริษัท เฟยดา จำกัด สาขาประจำประเทศไทย เริ่มดำเนินงานนำเข้า และเป็นตัวแทนจำหน่ายสมุนไพรเทียนเซียนแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

อ่านต่อ >>

ผลิตภัณฑ์ของเรา

ยาน้ำเทียนเซียน

เอ็กซ์แทร็คท์ พลัส

นิทรา เฮอร์เบิล ฟุทโซค

ติดต่อเรา

02-264-2217,02-264-2218,
02-264-2219
เวลาทำการ 08.30 น.-17.00 น.
[email protected]
213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 สุขุมวิท 21 คลองเตยเหนือ วัฒนา กรุงเทพ 10110

Copyright © 2020 บริษัท เฟยดา จำกัด. All rights reserved.