การดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับรังสีรักษาบริเวณช่องท้องและอุ้งเชิงกราน

13-Feb-2019     อ่าน : 1802 คน


 

การดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับรังสีรักษาบริเวณช่องท้องและอุ้งเชิงกราน

ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณช่องท้องและอุ้งเชิงกราน ผลของรังสีก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบทางเดินอาหาร ระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ระบบทางเดินปัสสาวะได้ การปฏิบัติตนที่ถูกต้องจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อน และทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น

ผลต่อระบบทางเดินอาหาร

จะมีผลกระทบต่อลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืด หรือทำให้เกิดอาการปวดถ่วงบริเวณทวารหนัก

ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้

  • ดูแลความสะอาดของปาก และฟันสม่ำเสมอ
  • ควรรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม  
  • ควรรับประทานอาหารเสริม เช่น น้ำผลไม้หรืออาหารเสริมอื่นๆ
  • ควรรับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ท้องอืด เช่น น้ำอัดลม
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ท้องเสียมากยิ่งขึ้น เช่น อาหารรสจัด อาหารหมัก
  • กรณีที่มีอาการท้องเสีย ควรดื่มเครื่องดื่มผสมเกลือแร่ ORS (โอ อาร์ เอส)
  • ถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา ไม่ควรให้ท้องผูกเพราะอุจจาระจะแข็งจะทำให้ลำไส้เป็นแผลเลือดออกได้

ผลต่ออวัยวะระบบสืบพันธุ์

อาจเกิดอาการช่องคลอดแห้ง คัน หรือตกขาว หรือน้ำใสๆ ไหลออกมาทางช่องคลอดซึ่งเกิดจากการที่ก้อนเนื้องอกถูกทำลาย หรือเป็นแผลบริเวณก้น

ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้

  • ไม่ควรใส่กางเกง หรือกางเกงในที่มีขอบแข็งหรือรัดแน่นจนเกินไป
  • หลังการถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะควรทำความสะอาด และซับให้แห้ง ไม่ควรเช็ดถูแรงๆ
  • สวนล้างช่องคลอดตามคำแนะนำ ถ้ามีเลือดออกทางช่องคลอดให้งดสวนล้างช่องคลอด
  • งดการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการฉายรังสี เพราะอาจเกิดการติดเชื้อได้ง่าย

ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ

อาจมีการถ่ายปัสสาวะบ่อย แสบขัด ปวดท้องน้อย

ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้

  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
  • ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ
  • เมื่อปัสสาวะแสบขัด หรือปัสสาวะปนเลือดควรปรึกษาแพทย์

การดูแลตนเองเมื่อผู้ป่วยได้รับรังสีรักษาครบแล้ว

ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณช่องท้องและอุ้งเชิงกราน เมื่อได้รับการฉายรังสีครบแล้ว ส่วนมากจะรู้สึกว่าตนเองแข็งแรงดี  แต่บางคนอาจมีอาการไม่สุขสบายหรือมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น  คลื่นไส้  อาเจียน  ท้องเสีย กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ลำไส้ใหญ่อักเสบหรือมีตกขาว หรือการอักเสบของช่องคลอด ซึ่งอาจทำให้ช่องคลอดตีบตันได้จึงควรป้องกัน โดยปฏิบัติดังนี้

การป้องกันกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

กระเพาะปัสสาวะอักเสบจะมีอาการปัสสาวะกระปริบกระปรอย ต่อมาอาจมีปัสสาวะแสบขัด หรือมีเลือดปนท่านควรป้องกันโดยดื่มน้ำมากๆ วันละ 8-10 แก้ว และอย่ากลั้นปัสสาวะในกรณีที่มีปัสสาวะปนเลือดควรต้องนอนพักอย่างเต็มที่ ดื่มน้ำให้มากๆ อย่ากลั้นปัสสาวะ อาการเลือดออกจะหายไปได้เอง

การป้องกันลำไส้ใหญ่อักเสบ

ลำไส้ใหญ่อักเสบจะมีอาการท้องเสียหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หากเกิดอาการท้องเสีย ท่านควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ท้องเสียมากยิ่งขึ้น เช่น นม อาหารรสจัด อาหารหมักดอง และควรรับประทานอาหารอ่อนที่ดูดซึมง่าย

หลีกเลี่ยงการเกิดอาการท้องผูก โดยสร้างสุขนิสัยในการขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน ควรดื่มนมหรือน้ำมากๆ และรับประทานอาหารประเภทผลไม้ เช่น กล้วยสุก มะละกอสุก ส้ม มะขาม เป็นต้น ถ้าถ่ายอุจจาระปนเลือดหรือมีมูกเลือดควรไปพบแพทย์ที่ดูแลขณะฉายรังสีอยู่จะดีที่สุด

การบริหารร่างกาย

ปัญหาที่อาจพบในผู้ป่วยที่ฉายรังสีบริเวณนี้คือ การบวมของขา และบริเวณเหนือหัวเหน่า หรือการปวดข้อสะโพก การบริหารร่างกายจะช่วยลดภาวะเหล่านี้

ท่าบริหาร

  1. ก้มตัวสลับกับแอ่นตัวไปข้างหลัง
  2. ส่ายสะโพกเป็นวงกลมช้าๆ
  3. นอนหงาย วางมือราบกับพื้น สะโพกและขาเหยียดตรง เริ่มบริหารโดยค่อยๆ งอเข่าและสะโพกข้างหนึ่งเข้าหาตัวให้เต็มที่ จากนั้นเหยียดสะโพกออกเล็กน้อยโดยเข่ายังงออยู่แล้วงอสะโพกเข้าเต็มที่อีกครั้ง  จากนั้นเหยียดเข่าและสะโพกกลับสู่ที่พักตอนแรกให้ทำในท่าเดียวกันในอีกขาข้างหนึ่ง
  4. ยืนตรง แกว่งขาไปข้างหน้าและข้างหลังสลับกัน ทำเช่นเดียวกันทั้ง 2 ข้าง
  5. ยืนตรง กางขาออกทางด้านข้าง และหุบกลับในทางเดิม  ทำสลับกันทั้ง 2 ข้าง
  6. นอนหงาย งอเข่าและสะโพก จากนั้นหมุนสะโพกให้หัวเข่าหมุนตามไปทางด้านข้างตรงข้ามต่อไปกางออกให้เต็มที่และและกลับสู่ท่าแรก  ทำสลับข้างในท่าเดียวกันนี้เวลานอนควรยกขาสูงเล็กน้อย  เพื่อไม่ให้เกิดการคั่งของเลือดบริเวณขา

การป้องกันช่องคลอดตีบแคบ

การเกิดช่องคลอดตีบแคบ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการตรวจภายในเพื่อติดตามการดำเนินของโรคมักพบผู้ป่วยเนื้องอกของช่องคลอด ปากมดลูก หรือรังไข่ ท่านควรปฏิบัติต่อดังนี้

  1. มาตรวจภายในตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  2. หลังการรักษาครบ 4-6 สัปดาห์  เมื่อแพทย์ตรวจไม่พบว่าก้อนเนื้องอกและการอักเสบในช่องคลอด และแพทย์แนะนำให้ท่านสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ ท่านอาจรู้สึกเจ็บบ้างขณะมีเพศสัมพันธ์ซึ่งเป็นอาการปกติที่พบได้ภายหลังการรักษา เนื่องจากน้ำหล่อลื่นตามธรรมชาติลดลงจึงควรใช้ครีมหล่อลื่นช่วย เช่น เควาย เยลลี่
  3. ภายหลังมีเพศสัมพันธ์อาจจะมีเลือดออกจากช่องคลอดเล็กน้อย  เป็นสิ่งปกติเพราะเส้นเลือดฝอยในช่องคลอดจะเปราะและแตกได้ง่ายไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด และเลือดจะหยุดไปเองภายใน 1-2 ชั่วโมง
  4. การมีเพศสัมพันธ์จะไม่ทำให้โรคกำเริบ และไม่ติดโรคเพราะเนื้องอกไม่ใช่โรคติดต่อ
  5. ในรายที่ไม่มีเพศสัมพันธ์  ท่านควรขยายช่องคลอดโดยการใช้นิ้วมือแทน โดยตัดเล็บให้สั้น ล้างมือให้สะอาด และบีบสารหล่อลื่นใส่ปลายนิ้วชี้และนิ้วกลางสอดนิ้วมือเข้าไปในช่องคลอดจนสุดนิ้ว ควรทำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง อย่างสม่ำเสมอ

 

 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook Tianxian herb
ปรึกษาผลิตภัณฑ์

กรุณากรอกแบบฟอร์ม เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับภายใน 24 ชั่วโมง


มะเร็งกับการดูแล

มะเร็งกับการรักษา

มะเร็งกับอาหาร

โดยตั้งแต่ปี 1998 บริษัท เฟยดา จำกัด สาขาประจำประเทศไทย เริ่มดำเนินงานนำเข้า และเป็นตัวแทนจำหน่ายสมุนไพรเทียนเซียนแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

อ่านต่อ >>

ผลิตภัณฑ์ของเรา

ยาน้ำเทียนเซียน

เอ็กซ์แทร็คท์ พลัส

นิทรา เฮอร์เบิล ฟุทโซค

ติดต่อเรา

02-264-2217,02-264-2218,
02-264-2219
เวลาทำการ 08.30 น.-17.00 น.
[email protected]
213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 สุขุมวิท 21 คลองเตยเหนือ วัฒนา กรุงเทพ 10110

Copyright © 2020 บริษัท เฟยดา จำกัด. All rights reserved.