การดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับรังสีรักษาบริเวณคอและศีรษะ

30-Jan-2019     อ่าน : 2115 คน


  
การดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับรังสีรักษาบริเวณคอและศีรษะ

ผู้ป่วยที่จะได้รับการบำบัดด้วยรังสีรักษาบริเวณลำคอและศีรษะ ควรจะต้องพบทันตแพทย์เสียก่อน เพื่อเตรียมช่องปากให้อยู่ในสภาพที่พร้อมจะรับผลกระทบ และลดผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากรังสี ระหว่างการได้รังสีรักษาประมาณ 7-10 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการจากผลแทรกซ้อนของรังสีเกิดขึ้นเป็นระยะ พอสรุปอาการต่างๆ ได้ดังนี้

อาการทั่วไป  เหนื่อย อ่อนเพลียมาก ขาดอาหาร เคี้ยวยาก กลืนยาก โลหิตจาง นอนไม่หลับ วิตกกังวล ท้อแท้สิ้นหวัง
อาการเฉพาะที่

  • อาการทางผิวหนัง แดง  คล้ำ เซลล์ตายเป็นขุย หรือกระทั่งรอยพับของคอแฉะ ลอกและเปื่อย  ผิวหนังเริ่มแข็งตึง รอบริมฝีปากตึง อ้าปากได้เล็กน้อย
  • อาการเจ็บปากและ mucosis (เป็นปฏิกิริยาคล้ายการอักเสบที่เกิดแก่เยื่อบุผิวช่องปาก คอ  หลังการได้รังสีรักษาในเวลาขนาดที่แน่นอนหนึ่ง) มีอาการอักเสบ เยื่อบุแดง ปากเป็นแผลมาก หรือน้อย มีฝ้าขาวหนาตัวเกาะตามเนื้อเยื่อบุหรือตามร่องแก้ม ลิ้นเริ่มเปลี่ยนและรับรู้รสน้อยลง กินอาหารได้น้อย กลืนยาก
  • อาการปากแห้ง ผู้ป่วยเริ่มมีอาการปากแห้งประมาณสัปดาห์ที่ 3 ขึ้นไปผู้ป่วยจะบอกว่าปากแห้งตอนกลางคืน จนถึงรุ่งเช้า น้ำลายเหนียว เริ่มกินยาก เพราะอาหารติดตามแก้ม หรือเพดานปาก ลิ้นเคลื่อนไหวยาก พูดจายากลำบาก สภาพที่เกิดขึ้น ชักนำให้เกิดการติดเชื้อของเหงือกหรือฟัน รุนแรงมากขึ้น เช่น ปวดฟัน ฟันโยก ฟันผุ มีกลิ่นเน่าเหม็น และถูกซ้ำเติมด้วยการไม่ทำความสะอาดของผู้ป่วย เนื่องจากเหนื่อย เจ็บปาก อ้าปากได้น้อย

การดูแลผู้ป่วยระหว่างได้รับรังสีรักษาบริเวณคอและศีรษะ

1. การดูแลเรื่องอาหาร  
ให้อาหารอ่อน เช่น ก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้ม โจ๊ก อาหารที่มีสภาพไม่เหนียว เคี้ยวกลืนไม่ยาก เพื่อลดการเคี้ยวให้น้อยที่สุด  อาหารเหลวที่ไม่หนืดเหนียว เพราะความหนืดเหนียวของอาหารอาจทำให้อาหารติดตามลิ้น เพดานปาก กระพุ้งแก้ม เหงือก ก่อให้เกิดความเจ็บปวดได้

 อุณหภูมิของอาหารที่ร้อนหรือเย็นเกินไป มีผลต่อการกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวด และทำลายเซลล์งอกใหม่ จึงจำเป็นต้องควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในช่วง 20-45 องศาเซลเซียส รสเปรี้ยว เผ็ด เค็ม หวาน ถือเป็นสารเคมีที่ให้รสชาติชนิดหนึ่ง ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นเซลล์ประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวด จึงจำเป็นต้องควบคุมรสชาติไม่ให้จัดเกินไป หากผู้ป่วยรับประทานอาหารไม่ได้ก็จำเป็นต้องให้อาหารทางหลอดเลือดดำ  และดูแลให้ผู้ป่วยได้รับน้ำดื่มอย่างเพียงพอ วันละ 2-3 ลิตร  ในกรณีที่ไม่มีข้อห้าม เนื่องจากการได้รับน้ำดื่มอย่างเพียงพอ จะเป็นการช่วยเพิ่มความชุมชื้นของช่องปากได้ดี และลดความตึงของเยื่อบุ ทำให้ผู้ป่วยสุขสบายช่องปากมากขึ้น

2. การดูแลช่องปาก
รักษาความสะอาดช่องปาก ฟัน เหงือก ลิ้น ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ให้บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ (0.9% NSS) ก่อนทุกครั้ง ในกรณีที่มีแผลในช่องปาก และบ้วนปากด้วยน้ำธรรมดา ในกรณีที่มีเพียงรอยบวมแดง ไม่มีแผล การบ้วนปากจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปากสะอาด ทำให้รู้สึกอยากอาหารเพิ่มขึ้นด้วย ใช้ยาอมและบ้วนปากที่เหมาะสม คือ ไม่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้แสบปาก อาจเป็น antiseptic หรืออาจเป็นน้ำยาต้านการอักเสบ เช่น Difflam ที่ควรใช้ตั้งแต่ก่อนได้รับรังสี อาจใช้ยาอมบ้วนปากผสมยาชา เช่น Orofar เพื่อลดความเจ็บปวด หรือใช้ยาชาแบบป้าย Xylocaine gel 4% ป้ายทาที่บริเวณเยื่อบุที่เจ็บหรือมีแผล

3. อาการเจ็บ หรือ ความปวด ให้ยาระงับปวดอย่างต่อเนื่อง เช่น ยาพาราเซตามอล 500 ม.ก ทุก 4 ช.ม

4. อาการกลืนหรือกินยาก 

ให้อาหารอ่อนหรืออาหารเหลวที่มีคุณค่าทางอาหาร ทำให้กลืนกินง่าย และมากขึ้น หรือให้อาหารผสมทางสายยาง หากผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่กินหรือกลืนไม่ได้ และมีสภาพขาดอาหารมากขึ้นหรือรุนแรง

5. อาการปากแห้งและผลแทรกซ้อนจากการปากแห้ง
ใช้น้ำยาอม และบ้วนปากบ่อยๆ ตลอดวัน เช่น น้ำยาบัฟเฟอร์ที่เป็นน้ำยาโซดาขนมปัง (Baking soda mouthwash) เนื่องจากกลไกของต่อมน้ำลายที่สร้างบัฟเฟอร์เสียไปจากรังสีที่ผู้ป่วยได้รับ และภาวะน้ำลายน้อย สิ่งแวดล้อมในปากเปลี่ยนแปลงไปเป็นสภาพกรด อาจใช้น้ำเกลือสะอาด 0.9% อมกลั้วปากและบ้วนปากได้ตลอดวัน ใช้น้ำลายเทียม หรือ เคี้ยวหมากฝรั่งชนิดที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาลเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำลาย

6. ภาวะเลือดออก  
ผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำกว่า 40,000 / ไมโครลิตร หรือมีภาวะเลือดออกตามไรฟันและเหงือก ควรงดแปรงฟัน ให้ใช้สำลี และผ้าก๊อสชุบน้ำเกลือ 0.9% เช็ดถูฟันกระพุ้งแก้มและลิ้นแทน ในกรณีที่มีค่าเกล็ดเลือดสูงกว่านี้และไม่มีเลือดออก ให้แปรงฟันด้วยแปรงสีฟันขนอ่อน โดยให้ปฏิบัติหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ และก่อนนอน หลังผู้ป่วยแปรงฟันหรือทำความสะอาดฟันและช่องปากด้วย สำลีและผ้าก๊อส ให้อมกลั้วคอและบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ 0.9% ปริมาณ 15 ml นาน 30 วินาที 3 ครั้ง ล้างแผลหรือเนื้อเยื่อที่มีเลือดออกด้วยน้ำยาเจือจางของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์  แล้วล้างออกด้วยน้ำเกลือล้างแผลอีกครั้ง  ตรวจและแก้ไข ปัจจัยเสริมที่ทำให้เลือดออก เช่น การติดเชื้อ เหงือกบวม

7. ภาวะอ้าปากยาก 

ให้ผู้ป่วยฝึกการอ้าปากด้วยเครื่องมือง่ายๆ เช่น จุกคอร์กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-4  ซม. ใส่ผ่านด้านหน้าช่องปาก หรือ ด้านข้างก็ได้ ให้ฝึกตลอดระยะการให้รังสีรักษา

8. ภาวะเหงือกและฟัน
กระตุ้นและช่วยเหลือให้ผู้ป่วยดูแลช่องปาก เพราะในระหว่างการให้รังสีรักษานี้ ช่องปากจะมีปัญหามากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป เริ่มตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 เข้าสัปดาห์ที่ 3 ของการให้รังสีรักษา หากไม่จำเป็นจะไม่มีการบูรณะระหว่างการได้รับรังสีรักษาไม่ควรถอนฟัน หรือรักษาโรคเหงือกด้วยหัตถการใด  และการใส่ฟันปลอมแบบถอดได้ ระหว่างการได้รังสีรักษาไม่สมควรทำ เพราะจะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ หากมีโรคของเหงือกหรือฟันเกิดขึ้น ระหว่างนี้ให้ดูแลด้วยหลักการอนุรักษ์

9. การดูแลด้านจิตใจ (นอนไม่หลับ เหนื่อย ท้อแท้ วิตกกังวล)

  • หาสาเหตุเรื่องทางจิตใจ อารมณ์ การกินอาหาร การขับถ่าย หรือการเจ็บป่วย เช่น เหนื่อยมาก ปวดมาก
  • ให้กำลังใจ ลดความวิตกกังวล เป็นเพื่อนพูดคุยเรื่องต่างๆ
  • ให้พยายามทำสมาธิ หรือ ฝึกจิต  สวดมนต์ภาวนา
  • ปรับเปลี่ยนเงื่อนไข ที่พักให้มีสิ่งแวดล้อมที่ให้กำลังใจและปลอดโปร่ง
  • จัดให้ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์

การดูแลช่องปากภายหลังหยุดรังสีรักษา

  1. การถอนฟันหลังหยุดรังสีรักษา ผลที่อาจเกิดขึ้นได้ หลังการถอนฟันเมื่อหยุดรังสีรักษา คือ แผลหายช้า มีแนวโน้มจากการติดเชื้อแผลถอนฟัน และลุกลามขยายตัวต่อไปได้ กระดูกตาย ติดเชื้อซ้ำ  แนวทางปฏิบัติหากมีการถอนฟันหลังได้รับรังสีรักษา คือ
  2. หากทำได้ควรให้ผู้ป่วยควรนอนโรงพยาบาล เพื่อประสิทธิภาพในการดูแลแผลถอนฟันและการทำหัตถการ
  3. ให้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสม ก่อนการถอนฟัน เพื่อให้ระดับยาในกระแสเลือดเพียงพอ และให้ต่อไประหว่างแผลถอนฟันกำลังมีกระบวนการหาย  หากแผลหายยาก ให้ผู้ป่วยมารับการล้างแผล ทำความสะอาดทุกวันที่โรงพยาบาลจนกว่าจะควบคุมการติดเชื้อได้
  4. หลังถอนฟันไปตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  5. การใส่ฟัน อุปสรรคในการใส่ฟันปลอมของผู้ป่วย คือ น้ำลายน้อย คุณภาพของ mucosa ลดลง ผู้ป่วยอ้าปากได้แคบลง ควรเริ่มใส่ฟัน เมื่อหยุดรังสีรักษาประมาณ 12 เดือน เพราะว่าเวลานี้ mucosa จะแข็งแรงพอสมควร แต่ก็ยังคงบางและเสี่ยงต่อการเกิดแผลได้จากการกดทับของฐานฟันปลอม นอกจากนี้ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ เพื่อตรวจสอบการใช้ฟันปลอมเป็นระยะ เช่น ทุกเดือน หากพบว่า mucosa เกิดจุดแดง จะได้แก้ไขโดยด่วนก่อนการเกิดแผล ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะกระดูกตายได้

 

 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook Tianxian herb
ปรึกษาผลิตภัณฑ์

กรุณากรอกแบบฟอร์ม เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับภายใน 24 ชั่วโมง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Tag ที่เกี่ยวข้อง

ความรู้มะเร็ง การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง รังสีรักษา

มะเร็งกับการดูแล

มะเร็งกับการรักษา

มะเร็งกับอาหาร

โดยตั้งแต่ปี 1998 บริษัท เฟยดา จำกัด สาขาประจำประเทศไทย เริ่มดำเนินงานนำเข้า และเป็นตัวแทนจำหน่ายสมุนไพรเทียนเซียนแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

อ่านต่อ >>

ผลิตภัณฑ์ของเรา

ยาน้ำเทียนเซียน

เอ็กซ์แทร็คท์ พลัส

นิทรา เฮอร์เบิล ฟุทโซค

ติดต่อเรา

02-264-2217,02-264-2218,
02-264-2219
เวลาทำการ 08.30 น.-17.00 น.
[email protected]
213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 สุขุมวิท 21 คลองเตยเหนือ วัฒนา กรุงเทพ 10110

Copyright © 2020 บริษัท เฟยดา จำกัด. All rights reserved.