มะเร็งลำไส้ พบได้บ่อยหลายแห่งทั่วโลก ห่างไกลได้แค่ใส่ใจความเสี่ยง

14-Jun-2023     อ่าน : 209 คน


 

มะเร็งลำไส้ ห่างไกลได้แค่ใส่ใจความเสี่ยง

ปัจจุบันมะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากเป็นอันดับ 3 ของโลก และจากสถิติล่าสุดพบว่า ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในประเทศไทยพบมากขึ้นทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ละเลยการตรวจเช็กโรคนี้ ทำให้มักพบเมื่อป่วยเข้าสู่ระยะท้าย ๆ แล้ว ดังนั้นการรู้เท่าทันมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยการดูแลใส่ใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหมั่นตรวจเช็กตั้งแต่เนิ่น ๆ คือหนทางการป้องกันโรคได้ในระยะยาว

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้

เพราะสาเหตุของมะเร็งลำไส้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นมะเร็งลำไส้ ได้แก่

  • ทานเนื้อสัตว์ติดมันและเนื้อแดงในปริมาณมาก
  • ทานเนื้อสัตว์ที่ผ่านขบวนการปรุงแต่ง (ไส้กรอก เบคอน แฮม เป็นต้น) ในปริมาณมาก ๆ
  • ทานผักผลไม้น้อยหรือไม่ทานเลย
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • โรคอ้วน
  • สูบบุหรี่จัด
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • พันธุกรรม หากเป็นผู้ที่มีประวัติครอบครัวมีมะเร็งลำไส้ใหญ่ ติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ รวมทั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมบางชนิดจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนี

อาการเตือนบอกโรค

ในระยะแรกอาจจะไม่มีอาการแสดงที่จำเพาะ โดยอาการที่บ่งบอกว่าอาจจะเป็นมะเร็งลำไส้ ได้แก่

  • ขับถ่ายผิดปกติ ท้องผูกสลับท้องเสีย มีเลือดออกทางทวาร อุจจาระปนเลือด หรืออุจจาระมีลักษณะเปลี่ยนไปเป็นเส้นเล็กลง
  • ปวดท้อง โดยลักษณะการปวดขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนและตำแหน่งที่พบ เช่น ถ้าก้อนโตด้านหน้าจะปวดเจ็บคล้ายคนเป็นไส้ติ่ง ถ้ามีก้อนบริเวณลำไส้ใหญ่ด้านซ้ายจะมีอาการลำไส้อุดตัน ปวดท้องคล้ายลำไส้ถูกบิด เป็นต้น

ตรวจวินิจฉัยให้ถูกจุด

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถทำได้โดย

  • ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทวารหนัก (Colonoscopy)
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์โดยการสวนแป้งแบเรี่ยม
  • ตรวจเลือดเพื่อค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยวัดระดับ Carcinoembryonic Antigen (CEA)
  • ตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น เอกซเรย์ทรวงอก, CT Scan, MRI หรือส่องกล้องคลื่นความถี่สูง (EUS)

รักษาตามระยะ

การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรคเป็นสำคัญ ได้แก่

  • ระยะที่ 0 (Stage 0) ระยะก่อนมะเร็ง เซลล์มะเร็งจะอยู่บริเวณผนังลำไส้ สามารถรักษาได้โดยการส่องกล้องเพื่อเข้าไปตัดชิ้นเนื้อออก
  • ระยะที่ 1 (Stage I) – ระยะที่ 2 (Stage II) เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าไปบริเวณผนังกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่ แต่ยังไม่แพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง สามารถรักษาได้โดยผ่าตัดตามตำแหน่งที่พบในลำไส้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ตรวจพบในระยะที่ 2 จะมีการตรวจยีน (Genome Testing) เพิ่มเติม เพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ร่วมด้วยหรือไม่ เพราะการรักษาด้วยเคมีบำบัดช่วยลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้
  • ระยะที่ 3 (Stage III) เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังบริเวณต่อมน้ำเหลือง ต้องมีการตรวจยีน (Genome Testing) ร่วมด้วย สามารถรักษาโดยการให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) แต่จะมีการฉายรังสี (Radiotherapy) ร่วมด้วยในกรณีที่พบบริเวณลำไส้และทวารหนัก
  • ระยะที่ 4 (Stage IV) เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปทั่วทั้งต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ปอด  กระเพาะอาหาร รังไข่ ต้องรักษาเริ่มต้นโดยการให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) ร่วมกับการฉายรังสี (Radiotherapy) แล้วตามด้วยการผ่าตัดก้อนมะเร็งในตำแหน่งที่พบรวมถึงตำแหน่งที่ลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง

ผ่าตัดผ่านกล้องรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ (Laparoscopic Surgery)

ในอดีตการผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นการผ่าตัดแบบแผลเปิด ซึ่งความยาวของแผลอยู่ที่ประมาณ 6 – 12 นิ้ว หรือ 15 – 30 เซนติเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อนมะเร็ง แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง นำมาซึ่งการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ (Laparoscopic Surgery) โดยศัลยแพทย์จะทำการเจาะรูขนาดเล็กประมาณ 4 – 5 รู ขนาด 6 – 8 มิลลิเมตร และมีแผลใหญ่สุด 1 รู ขนาดไม่เกิน 4 เซนติเมตร หลังจากนั้นจะมีการใส่เครื่องมือผ่าตัดรวมถึงกล้องขนาดเล็กที่สามารถมองเห็นอวัยวะภายในบนจอมอนิเตอร์ได้อย่างชัดเจน จำนวนและขนาดของแผลจะขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็ง

โดยข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้องคือ แผลเล็ก  เสียเลือดลดลง เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ลดการเกิดผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อที่แผล และทำให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ผลการผ่าตัดผ่านกล้องรักษาได้ดีเทียบเท่าการผ่าตัดแบบแผลเปิด แต่ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ควรจะเข้ารับการผ่าตัดแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ เพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีที่สุด

ตรวจเช็คป้องกันโรค

สัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ คือ ติ่งเนื้อหรือก้อนเนื้อ เพราะฉะนั้นการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทวารหนัก (Colonoscopy) แนะนำให้ตรวจเป็นประจำทุก ๆ 5 – 10 ปี ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป จะช่วยให้สามารถรับมือได้ทันท่วงที แต่ถ้าหากมีคนในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคนี้ แนะนำให้มาตรวจตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไปจะดีที่สุด

นอกจากการตรวจเช็กร่างกายและใส่ใจความผิดปกติที่เกิดขึ้น สิ่งที่สำคัญคือการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ควรทานเป็นประจำ ที่สำคัญคือต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้สุขภาพแข็งแรงห่างไกลมะเร็งลำไส้อย่างแน่นอน

ขอขอบคุณข้อมูล นพ. วุฒิ สุเมธโชติเมธา โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ

 

 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook Tianxian herb
ปรึกษาผลิตภัณฑ์

กรุณากรอกแบบฟอร์ม เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับภายใน 24 ชั่วโมง


รู้จักโรคมะเร็ง

มะเร็งกับการรักษา

มะเร็งกับการดูแล

โดยตั้งแต่ปี 1998 บริษัท เฟยดา จำกัด สาขาประจำประเทศไทย เริ่มดำเนินงานนำเข้า และเป็นตัวแทนจำหน่ายสมุนไพรเทียนเซียนแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

อ่านต่อ >>

ผลิตภัณฑ์ของเรา

ยาน้ำเทียนเซียน

เอ็กซ์แทร็คท์ พลัส

นิทรา เฮอร์เบิล ฟุทโซค

ติดต่อเรา

02-264-2217,02-264-2218,
02-264-2219
เวลาทำการ 08.30 น.-17.00 น.
[email protected]
213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 สุขุมวิท 21 คลองเตยเหนือ วัฒนา กรุงเทพ 10110

Copyright © 2020 บริษัท เฟยดา จำกัด. All rights reserved.